บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด
ผู้ผลิตและจำหน่าย ข้าวตราไก่แจ้และข้าวตรากระเช้า
Call : 038-473-555, 086-367-7823
Email : kaijaerice.gp@gmail.com

ถอดมุมคิด “ข้าวไก่แจ้” สร้างระบบองค์กร-เพื่อพัฒนาคนดี


ธีรินทร์ ธัญญวัฒนากุล เจเนอเรชั่นที่ 2ของข้าวตราไก่แจ้

จากแบรนด์ข้าวเล็ก ๆ ที่ขายอยู่ใน จ.ชลบุรี มาราว 20 ปี อย่าง “ข้าวตราไก่แจ้” สู่การเป็นแบรนด์ข้าวระดับประเทศ กระทั่งกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยเฉพาะ 15 ปีให้หลัง จนสามารถส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจไปสู่การทำขนมข้าวต้มมัดพร้อมทานตราแม่นภา ทำขนมขบเคี้ยวที่กำลังเติบโตได้ดี รวมถึงยังมีธุรกิจโรงแรม อพาร์ตเมนต์ และธุรกิจโลจิสติกส์อีกด้วย

เส้นทางการเติบโตของข้าวตราไก่แจ้ หรือบริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นผลงานของ “ธีรินทร์ ธัญญวัฒนากุล” เจเนอเรชั่นที่ 2 ของข้าวตราไก่แจ้ ที่ตอนนี้เขาบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอย่างเต็มตัว ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากความตั้งใจ และสู้ไม่ถอยของ “ธีรินทร์” แล้ว สิ่งสำคัญที่เขาย้ำว่าทำให้เขายกเครื่องธุรกิจได้ คือ “การสร้างระบบ”

“คุณพ่อผมเริ่มทำธุรกิจข้าวตราไก่แจ้มาตั้งแต่ผมเด็ก ๆ ทำมาประมาณ 20 ปี แต่ไม่มีการขยายตัวเลย ซึ่งเรามองว่าน่าจะมีโอกาสขยายได้มากกว่านี้ ผมมีการพูดคุย เสนอไอเดียกับคุณแม่ตลอด แต่เนื่องจากรุ่นคุณพ่อ-คุณแม่ยังค่อนข้างอนุรักษ์ เขาจึงมีแนวคิดว่า อย่าขยายเกินกำลัง การทำธุรกิจของรุ่นพ่อจึงเน้นประหยัด ใช้น้อย ไม่ค่อยกล้าเสี่ยงมาก ซึ่งเมื่อผมอยากพิสูจน์ว่า ธุรกิจขยายได้ ยกระดับได้ หลังเรียนจบจากสหรัฐอเมริกาจึงกลับมาและเริ่มจับธุรกิจ”

“ตอนแรกบ้านผมเหมือนกับเถ้าแก่ทั่วไป ตอนเช้าคุณพ่อกับคุณแม่ตื่นขึ้นมาเปิดบ้าน เก็บเงินเอง เช็กของเอง จัดของเอง ลูกน้องมีเพียงคนงานเท่านั้น ไม่มีระบบบัญชี เรียกได้ว่าทุกอย่างเจ้าของต้องทำเองแทบทั้งหมด เพราะไม่มีระบบ จึงไม่มีความเชื่อใจในคนงาน ซึ่งผมคิดว่าถ้าธุรกิจของที่บ้านเราจะขยายต่อได้ สิ่งที่ต้องมีคือระบบ ที่ผมไม่ต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้นเยอะ ผมจึงตั้งเป้าว่าจะค่อย ๆ สร้างระบบ สร้างคน ควบคู่ไปกับการสร้างยอดขาย”

“ธีรินทร์” บอกว่า ในช่วงที่เริ่มทำใหม่ ๆ เขาลงมือทำเองทุกอย่าง รวมถึงการลงไปคุยกับลูกค้าด้วยตัวเอง เพราะเมื่อก่อนไม่มีเซลส์ขาย มีเซลส์คนแรกคือคุณพ่อ ซึ่งมีลูกค้าอยู่ระดับหนึ่ง แต่เมื่อเขาลงไปคุยเอง ทำให้รับรู้ความต้องการของลูกค้า และกลับมาปรับปรุงให้ได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเป็นชนิดของข้าว และขนาดของถุง วันนี้ข้าวตราไก่แจ้ มีทั้งข้าวเหนียว ข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวสุขภาพ ฯลฯ รวมแล้วประมาณ 500-600 เอสเคยู จากเดิมที่มีประมาณ 20-30 เอสเคยูเท่านั้น

“เมื่อทำตามโจทย์ลูกค้า ผมจึงเริ่มหาคนใหม่ ๆ เข้ามา ค่อย ๆ สร้างทีมที่สู้มากขึ้น เมื่อเราตอบโจทย์ลูกค้าได้ ส่งผลให้ปีแรกหลังจากที่ผมเข้ามาดู บริษัทผมเติบโต 200-300% จากนั้นผมจึงเริ่มเพิ่มรถ เพิ่มคน และเพิ่มเซลส์ เพราะต้องการขายข้ามเขต ก็เริ่มจากอำเภอใกล้ ๆ เป็นจังหวัดใกล้ ๆ อย่างสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯ สู่ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน หลังจากนั้น บริษัทเติบโตขึ้นปีละ 30-40% ทุกปี ทำให้พนักงานมีไฟในการทำงานมากขึ้น”

ระบบที่ “ธีรินทร์” ว่าคือการสร้างวัฒนธรรมให้พนักงานทุกคนรู้จักหน้าที่ และความรับผิดชอบของตนเอง ผ่านการพูดคุยและสร้างความเข้าใจว่า สิ่งที่เราต้องการคืออะไร แล้วต้องเดินไปแบบไหน อาจมีทั้งกดดัน และให้กำลังใจ แต่เป็นระบบที่ค่อย ๆ สร้างไปให้ทันกับการเติบโตทางธุรกิจด้วย

หลังจากในช่วงแรกอาจประสบปัญหาธุรกิจโตเร็วเกินไป ขณะที่ระบบยังไม่ดีพอ ฝ่ายบัญชียังไม่แข็งแรง การตรวจสอบภายในยังไม่ทำให้เกิดปัญหาทุจริตขึ้นในบริษัท แต่เขากลับค่อย ๆ สร้างระบบคุ้มกันเข้ามาเพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว

“เมื่อมีระบบ ทำให้ผมมีเวลามากขึ้น คิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น แม้อาจจะเหนื่อยในเรื่องของความคิด แต่กลายเป็นว่าอยู่ที่ไหนผมก็สามารถทำงานได้ ซึ่งตรงกับที่ผมวางแผนไว้ว่า ทุกไตรมาสผมต้องไปต่างประเทศ ไปครั้งหนึ่งประมาณ 1 เดือน ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไม่ได้ แค่ผมหยุด 1 วัน ทุกอย่างก็ชะงักแล้ว แต่วันนี้ผมสามารถบริหารจัดการได้หมด ด้วยการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย ประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์”

“อาจจะเหนื่อยในช่วงที่ผ่านมา แต่กลายเป็นว่าเราสนุกกับการที่เราคิดแล้วมีคนมาตอบโจทย์ให้เรามากขึ้น มีคนมาเสริมเราได้ดีขึ้น ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่ยังสนุก เพราะหากเรายังเหนื่อยเหมือนวันแรกที่เราทำงาน แล้วได้ผลเท่าเดิม แบบนั้นผมถือว่าเหนื่อยแล้วไม่มีมูลค่า”

นอกจากความมุ่งมั่นที่ต้องการสร้างระบบให้มีความชัดเจนแล้ว “ธีรินทร์” ยังคำนึงถึง “การสร้างคน” โดยเฉพาะคนภายนอก หรือพนักงานที่ต้องรับเข้ามา ซึ่งเขาเน้นเรื่องของการเป็นคนดี

“คนดีของผมคือจิตใจดี ทั้งกับตัวเองและคนอื่น ไม่ใช่เป็นคนที่มีอีโก้สูง หรือเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น เพราะการทำงานของผมต้องเป็นทีมเวิร์ก ต้องมีการประสานงานกันหลาย ๆ ฝ่าย ถึงจะทำให้งานเดินได้ ถ้าพนักงานของผมเป็นคนที่จิตใจดี เข้ากับคนอื่นได้ ถึงแม้จะเก่งน้อยหน่อย แต่ทำให้งานลื่นไหลขึ้นแน่นอน”

“ผมว่าการมีคนที่เก่งมาก แต่ไม่สามารถคุยกับใครได้เลย ไม่มีใครอยากทำงานด้วย เป็นคนที่มีแต่ปัญหา พวกนี้กลายเป็นส่วนที่ทำให้องค์กรแย่กว่าเดิมอีก แต่ถ้าเก่งน้อยหน่อย แล้วดี มีการช่วยเหลือส่งเสริมกัน เรียนรู้เร็ว รับผิดชอบ รู้หน้าที่ ผมว่านี่คือคนที่ผมอยากจะได้เข้ามาในองค์กร โดยไม่สนใจว่าจะจบมาได้เกรดเท่าไหร่ หรือจบจากที่ไหนมา แต่จะดูภาพรวมในเรื่องของจิตใจมากกว่า”

ถึงจะมีแนวคิดที่ไม่เหมือนเจเนอเรชั่นแรก แต่คำสอนของคุณพ่อที่ “ธีรินทร์” ยังยึดถือ และนำมาใช้อยู่เสมอ คือ ความซื่อสัตย์ ความนอบน้อม และความจริงใจต่อลูกค้า รวมถึงหลักคิดที่ว่า อะไรที่ได้มาโดยง่าย ไม่ใช่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

ฟังแล้วซึ่งอดถามต่อไม่ได้ว่า ในวัยเพียง 40 ปี แต่สามารถปั้นธุรกิจของครอบครัวจาก 10 ล้านบาท จนมาเป็น 1,000 ล้านบาทได้ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง เขากลับตอบว่า…ทุกวันนี้ผมถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง คือ ความสำเร็จของผมนั้นเป็นขั้น ๆ สมมติถ้าผมทำอันนี้ ผมก็แฮปปี้แล้ว ปีนี้ผมก็แฮปปี้ แต่เป้าหมายผมไกลมาก ซึ่งจะไปถึงตรงนั้นหรือไม่ก็ไม่รู้

“แต่ผมก็แฮปปี้กับสิ่งที่ผมเป็นอยู่ทุก ๆ ปี บางปีอาจจะไม่ได้ตามเป้า แต่ยังโอเค มีอะไรที่ดีขึ้นบ้าง และสิ่งสำคัญที่สุด คืออิสระ ไม่ต้องใช้เวลากับงานให้มากที่สุด แต่สร้างสรรค์ให้มากที่สุด”

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของธุรกิจทุกวันนี้การแข่งขันมากขึ้น แต่การจะนำพาธุรกิจให้ไปตลอดรอดฝั่ง ไม่ใช่จะอาศัยฝีมืออย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ต้องมองอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริการลูกค้า หรือเรื่องการดูแลพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การสร้างคน” ซึ่งถือเป็นทรัพยากรมีค่าของบริษัท และเป็นสิ่งที่จะทำให้บริษัทสามารถเดินบนเส้นทางของการแข่งขันที่รุนแรงได้ในโลกปัจจุบัน

COPYRIGHT © 2016 KAIJAERICE. ALL RIGHTS RESERVED.